พันธุ์หมาบ้า บ้าเชื้อเดียวกัน
''มิตรภาพในพันธุ์เดียวกัน''
“พันธุ์หมาบ้า”
เป็นนวนิยายขนาดยาวที่เขียนโดย “ชาติ กอบจิตติ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ปี 2547 และเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงจากนวนิยายเรื่อง คำพิพากษา
ซึ่งได้รับรางวัลซีไรต์ประจำปี พ.ศ.๒๕๒๕
เรื่องพันธุ์หมาบ้าตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร
“ลลนา” โดยทยอยตีพิมพ์ตั้งแต่ปักษ์แรกของเดือนสิงหาคม 2528 ถึงเดือนธันวาคม 2530
มีการตีพิมพ์รวมเล่มครั้งแรกเมื่อปี 2531
และได้ตีพิมพ์ซ้ำอีกหลายครั้งจนถึงครั้งล่าสุดซึ่งเป็นครั้งที่ 23 ในปี 2551
นวนิยายเรื่องนี้เปิดเรื่องโดยตัวละครที่ชื่อว่า
ชวนชั่ว เขาเดินทางไปหาเพื่อนที่จังหวัดแถบชายทะเลแห่งหนึ่ง
โดยตั้งใจจะไปหาแรงบันดาลใจในการเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ด้วย ชวนชั่วไปหาเพื่อนชื่อ
อ๊อตโต ซึ่งเปิดร้านขายของที่ระลึกอยู่ที่นั่น
อ๊อตโตเปิดร้านค้าเพราะมีจุดประสงค์คือ ต้องการเริ่มต้นชีวิตใหม่
และเพื่อเป็นสถานที่รวมตัวของบรรดาเพื่อนๆ
อ๊อตโตกับชวนชั่วไปนั่งสังสรรค์กันที่ร้านแห่งหนึ่ง
พวกเขาพูดคุยกันถึงเรื่องราวในอดีต รวมถึงเพื่อนๆ ได้แก่ ทัย แก่ ล้าน สำลี
เล็กฮิป และอีกหลายคน
ที่มีนิสัยและพฤติกรรมแบบเดียวกันจนเรียกได้ว่าเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่ละคนล้วนเคยใช้ชีวิตร่วมสุขร่วมทุกข์มาด้วยกันที่เมืองพัทยา
ไม่ว่าพวกเขาจะทุกข์ สุข สนุกสนาน โศกเศร้า เฮฮา หรืออยู่ในอารมณ์ใดก็ตาม
สิ่งที่ขาดไม่ได้เมื่อเจอหน้ากันคือเหล้า และกัญชา
ซึ่งมีความสำคัญประดุจดังเป็นญาติพี่น้องท้องเดียวกับพวกเขา
เรื่องราวดำเนินไปโดยการเล่าเรื่องราววีรกรรมต่างๆ
ทั้งความสนุกสนาน ความทุกข์ การกระทำ การดำเนินชีวิต การเรียนรู้
และประสบการณ์ต่างๆของพวกเขา แต่เมื่อมีเพื่อนคนหนึ่งเดินทางไปต่างประเทศ
เพื่อนๆที่เหลือจึงแยกย้ายกันไปตามวิถีชีวิตของตน
ตัวละครในเรื่องนี้ล้วนเป็นชื่อจริง และมีชีวิตอยู่จริง
เรื่องราวต่างๆแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพระหว่างเพื่อนในช่วงชีวิตวัยรุ่น
ซึ่งเป็นวัยแห่งความคึกคะนอง และสามารถกระทำสิ่งใดๆก็ได้ภายในอารมณ์ชั่ววูบ
โดยการกระทำนั้นอาจทำให้ชะตาของพวกเขาหักเหไปทั้งชีวิตได้
เป็นหนังสือที่ทำให้ผู้อ่านหันกลับมาคิดใคร่ครวญถึงชีวิตของตนเองและคนรอบข้าง
เพื่อจะได้ก้าวเดินไปบนเส้นทางชีวิตได้อย่างมีสติ
เพราะมีตัวอย่างของคนที่ล้มเหลวในชีวิตปรากฏอยู่ในเนื้อเรื่อง
มีทั้งผู้ที่สามารถกลับตัวกลับใจได้ในภายหลัง
และผู้ที่ไม่มีโอกาสที่จะกลับตัวอีกต่อไป ซึ่งเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจน
ผู้แต่งใช้รูปแบบวิธีการนำเสนอ
เรื่องราวแตกต่างจากนวนิยายเรื่องอื่นๆ โดยไม่ได้มุ่งเน้นที่เนื้อหา
เนื่องจากเขาเขียนจากความทรงจำ ตามความจริงที่เคยปรากฏ
หรือที่เขากล่าวว่าไม่ได้เขียนขึ้นจากชีวิตจริง
เพียงอาศัยพฤติกรรมของคนจริงๆมาเป็นพื้นฐานเท่านั้น เขากลับมุ่งเน้นไปที่ความมันส์หรือรูปแบบการเขียนคือมีการใช้ภาษาและถ้อยคำที่แข็งกระด้าง
คำด่าทออันหยาบคาย เห็นได้จากบทสนทนาของตัวละครจะมีคำว่า “มึง” “กู” “แม่-ง”
และคำด่าอื่นๆทั้งทางตรงและทางอ้อมอีกมากมายปรากฏอยู่เกือบทั้งเรื่อง
จัดว่าเป็นลีลาการเขียนอย่างหนึ่งเพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน
อ่านแล้วเกิดอารมณ์สะใจ
เป็นการถอดคำพูดที่เพื่อนคุยกันโดยไม่มีการดัดแปลงพันธุกรรมใดๆ
เพื่อให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง ให้กลมกลืนไปกับบรรยากาศของเรื่อง
ทำให้ผู้อ่านสามารถซึมซับแต่ละตัวอักษรและมีอารมณ์ร่วมไปกับตัวละครได้ไม่ยาก
แม้ว่าตลอดเวลาที่ตีพิมพ์จะมีทั้งผู้ที่ติ
และชื่นชม ทั้งชอบ และไม่ชอบ เพราะกลัวว่าจะเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีแก่เยาวชน
เนื่องด้วยรูปแบบภาษาที่ใช้ในการแต่งมีคำหยาบคาย
ประกอบกับเนื้อหาที่มีการเล่าเรื่องราวพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของตัวละคร ชาติ
กอบจิตติ ก็มิได้สนใจแต่อย่างใด ฉันเห็นด้วยกับชาติ กอบจิตติ
ที่กล่าวว่าควรเก็บสิ่งดีจากหนังสือไปใช้ จำสิ่งชั่วไว้เตือนตน
และไม่เชื่อว่าคนที่รักการอ่านหนังสือจะต้องมาเสียคน เพราะการอ่านหนังสือนั้น
คนที่ไม่รักการอ่านต่างหากที่น่าเป็นห่วง สรุปว่าพันธุ์หมาบ้าไม่ใช่หนังสือที่ดี
แต่เป็นหนังสือที่ดีมากๆ อย่างน้อยก็ยืนยันได้จากการที่หนังสือเล่มนี้ยังคงมีผู้นิยมอ่านมาจนถึงปัจจุบัน
รวมเวลาได้ 20 ปี ตีพิมพ์ถึง 23 ครั้ง
เมื่ออ่านพันธุ์หมาบ้าแล้ว ทำให้เราเข้าใจชีวิตวัยรุ่นมากขึ้น
ทำให้รู้ว่าคนที่เราสามารถเรียกว่า “เพื่อน” ได้อย่างเต็มปากนั้นเป็นอย่างไร
และทำให้วัยรุ่นเข้าใจความคิดของผู้ใหญ่ว่า สิ่งที่ผู้ใหญ่ทั้งบ่น ทั้งด่า ทั้งตี
ต่างๆนานา นั่นก็เป็นเพราะความรัก บางครั้งเขาอาจทำไม่สนใจเรา ไม่แสดงว่าห่วง
นั่นก็เป็นเพราะเขามีเหตุผลคือ เห็นว่าลูกโตแล้ว อยากให้ดูแลตัวเองได้
เรียกว่าทำให้เข้าใจหัวอกของพ่อแม่นั่นเอง ฉะนั้น พันธุ์หมาบ้า
จึงเป็นหนังสือที่เปรียบได้ดั่งตำราชีวิตที่สมบูรณ์แบบเล่มหนึ่งซึ่งควรมีไว้เป็นหนังสือสามัญประจำบ้าน
👍👍👍
ตอบลบเยี่ยมจริงๆๆ
ตอบลบสุดยอดดด
ตอบลบ